ในปัจจุบัน เสียงเตือนจากซอฟต์แวร์จัดการทีมอาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในอดีต แนวคิดที่จะมีซอฟต์แวร์ช่วยจัดการทีมที่มากกว่าแค่อีเมลยังเป็นสิ่งที่ไม่นึกถึง ซึ่ง Slack คือผู้นำตลาดที่สร้างผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกนี้ขึ้นมา
หลายคนคิดว่าการเป็นผู้ประกอบการคือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดมักเกิดจากการสร้างตลาดใหม่ทั้งหมด ความสำเร็จนี้เกิดจากการมองเห็นปัญหาที่คนอื่นมองข้าม หรือสิ่งที่ผู้คนยอมรับว่าเป็น “เรื่องปกติ” Slack คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการเปลี่ยนปัญหาเล็กๆ ให้กลายเป็นโอกาสครั้งใหญ่
การแก้ปัญหาผู้ใช้และการสร้างการสื่อสารที่ดียิ่งขึ้น
Stewart Butterfield เริ่มต้นบริษัทด้วยเป้าหมายสร้างเกมชื่อ Glitch แต่เมื่อเกมไม่ประสบความสำเร็จ เขาปิดตัวเกมแต่ไม่ปิดบริษัท เขาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Slack และหันมาสร้างซอฟต์แวร์ที่เน้นการแก้ปัญหาการสื่อสารในองค์กรแทน
ในช่วงที่พัฒนาเกม Glitch ทีมของเขาเจอปัญหาการสื่อสารภายในที่ไม่ราบรื่น พวกเขาจึงสร้างระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและค้นหาได้ง่ายขึ้นเพื่อตอบโจทย์การทำงานในทีม ซอฟต์แวร์นี้เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาภายใน แต่เมื่อเห็นศักยภาพและช่องว่างในตลาด Butterfield จึงปรับโฟกัสของบริษัทไปที่ซอฟต์แวร์นี้อย่างเต็มตัว
บทเรียนสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงนี้คือ ความสามารถในการมองเห็นและแก้ปัญหาของผู้ใช้ พร้อมทั้งปรับตัวเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ Slack ประสบความสำเร็จเพราะพนักงานของตัวเองเป็นผู้ใช้งานจริง พวกเขาออกแบบระบบที่เหมาะกับทีมงานมืออาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
หลังจาก Slack ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาด พวกเขายังคงมุ่งมั่นพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น Slack Atlas ระบบสารบบพนักงาน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นหัวใจของความสำเร็จนี้
การประยุกต์กลยุทธ์ของ Slack กับงานจัดซื้อในอุตสาหกรรมการผลิต
เพื่อเข้าใจว่าแนวคิดของ Slack สามารถนำมาใช้ในการสร้างตลาดใหม่ได้อย่างไร มาดูตัวอย่างในมุมที่ต่างออกไป: ระบบจัดซื้อในอุตสาหกรรมการผลิต
โรงงานจำเป็นต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อผลิตสินค้า งานของฝ่ายจัดซื้อคือการสั่งซื้อชิ้นส่วนที่ถูกต้องในราคาที่เหมาะสม ฟังดูเหมือนง่ายแต่ในความเป็นจริง ฝ่ายจัดซื้อในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหามากมาย
ฝ่ายจัดซื้อมักมีฐานข้อมูลที่เก็บเอกสาร เช่น แบบงานชิ้นส่วนและราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม ฐานข้อมูลเหล่านี้มักล้าสมัย ไม่เป็นระเบียบ หรือไม่สามารถใช้งานร่วมกับระบบอื่นได้ ทำให้การดึงข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลาทำได้ยาก ผลที่ตามมาคือ การสั่งซื้อชิ้นส่วนใหม่ยังคงต้องอาศัยการคาดเดา ตัวอย่างเช่น การสั่งซื้อที่อาศัยคำอธิบายสั้นๆ ทางโทรศัพท์ นอกจากนี้ หากเกิดสถานการณ์พนักงานลาออก ข้อมูลสำคัญก็มักจะหายไป เหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพและข้อผิดพลาด
ความรู้สำคัญในงานจัดซื้อ หรือข้อมูลสำคัญที่ฝ่ายจัดซื้อจำเป็นต้องมี ได้แก่
- ข้อมูลเกี่ยวกับซัพพลายเออร์
- ประวัติการตั้งราคา
- กลยุทธ์การเจรจาต่อรอง
- ข้อกำหนดทางเทคนิคเฉพาะของชิ้นส่วน
พนักงานที่มีประสบการณ์มักมีความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับซัพพลายเออร์ และเข้าใจว่าเจ้าไหนให้คุณภาพที่ดีที่สุดหรือส่งของได้ตรงเวลา พวกเขายังจดจำรายละเอียดของคำสั่งซื้อในอดีต เช่น ชิ้นส่วนใดที่ต้องการการจัดการพิเศษ หรือซัพพลายเออร์รายใดที่ยืดหยุ่นเรื่องราคา และหากความรู้เหล่านี้ไม่ถูกบันทึกและจัดเก็บอย่างเหมาะสม เมื่อพนักงานที่มีความรู้ลาออก อาจเกิดปัญหาดังต่อไปนี้
- ความล่าช้าในการจัดซื้อ: พนักงานที่เหลือไม่รู้ว่าจะติดต่อซัพพลายเออร์รายใด หรือควรถามรายละเอียดอะไร
- คำสั่งซื้อผิดพลาด: การขาดข้อมูลและประสบการณ์อาจทำให้สั่งสินค้าผิด ส่งผลให้การผลิตล่าช้าและต้นทุนเพิ่มขึ้น
- ความผิดพลาดซ้ำซาก: ปัญหาในอดีตที่เคยพบกับซัพพลายเออร์หรือชิ้นส่วนอาจเกิดขึ้นซ้ำ
- ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น: ขาดข้อมูลประวัติการตั้งราคา ทำให้ไม่ได้ราคาที่ดีที่สุด
ตัวอย่างเช่น พนักงานจัดซื้อที่มีประสบการณ์อาจทราบดีว่าชิ้นงานส่วนนี้จะต้องสั่งจากซัพพลายเออร์เฉพาะทางเท่านั้นเนื่องจากว่าใช้วัสดุพิเศษในการผลิต หากข้อมูลนี้ไม่ถูกกระจายต่อ พนักงานที่เข้ามาใหม่อาจจะเลือกซัพพลายเออร์ที่ราคาถูกกว่าแต่ไม่สามารถจัดหาชิ้นงานที่ตรงตามข้อกำหนดได้ และก็จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่องค์กรจะต้องเสียเวลาและเสียต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น
Autodesk ซึ่งมีชื่อเสียงด้านซอฟต์แวร์ AutoCAD เคยพยายามขยายตลาดเข้าสู่การจัดซื้อในอุตสาหกรรมการผลิต แต่ล้มเหลวเพราะซอฟต์แวร์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะ เช่น การจัดการซัพพลายเออร์แบบรวมศูนย์และการวิเคราะห์ต้นทุนที่ละเอียด ซอฟต์แวร์ออกแบบ เช่น AutoCAD แม้จะยอดเยี่ยมในงานออกแบบ แต่ขาดการผสานการทำงานร่วมกันกับเวิร์กโฟลว์งานจัดซื้อ ส่งผลให้ไม่สามารถเจาะตลาดนี้ได้สำเร็จ
การให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย